ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานเปิดงาน “นาวีวิจัย ๒๐๒๒ วิจัย พัฒนา พึ่งพาตนเอง มุ่งสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”

Release Date : 21-09-2022 00:00:00
ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานเปิดงาน “นาวีวิจัย ๒๐๒๒ วิจัย พัฒนา พึ่งพาตนเอง มุ่งสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”

พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดงาน “นาวีวิจัย ๒๐๒๒ วิจัย พัฒนา พึ่งพาตนเอง มุ่งสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” โดยมี พลเรือตรี สุชาติ นาคมอญ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ให้การต้อนรับ ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕

 

 

 

 

จากนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกองทัพเรือ ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมระบบงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมทางการทหารของกองทัพเรือและรัฐวิสาหกิจในกำกับให้มีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และทิศทางในการพัฒนาประเทศบนฐานนวัตกรรม โดยนำผลการวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตไว้ใช้ในราชการอย่างจริงจัง สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ในฐานะที่เป็นหน่วยประสานงานและดำเนินงานโครงการวิจัย จึงได้จัดงาน “นาวีวิจัย 2022” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณนักวิจัย นักประดิษฐ์และคณะทำงาน ที่สร้างผลงานวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์กับกองทัพเรือ รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ทั้งของกองทัพเรือ เหล่าทัพ และหน่วยงานวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทราบถึงทิศทางการวิจัยของกองทัพเรือในอนาคตที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ และเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการของกองทัพเรือมีความสนใจการดำเนินการวิจัยกันมากขึ้น อันจะเป็นการนำพาไปสู่การวิจัยเพื่อพึ่งพาตนเองต่อไป

ทั้งนี้ ในงานนาวีวิจัย ๒๐๒๒ ได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลประกาศยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยของกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ โดย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบรางวัลแก่ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน ๖ ผลงาน จากผลงานทั้งสิ้น ๑๔ ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล มีดังนี้
 ผลงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารด้านยุทโธปกรณ์ จำนวน ๒ ผลงาน ได้รับรางวัลดีเด่นทั้ง ๒ ผลงาน ได้แก่
- โครงการวิจัยระบบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล (Maritime Aerial Reconnaissance Craft Unmanned System : MARCUS)
- โครงการวิจัยระบบป้องกันเพรียงในท่อนำน้ำทะเลสำหรับเรือในกองทัพเรือ
 ผลงานวิจัยด้านสิ่งประดิษฐ์ ทั้งหมด ๖ ผลงาน ได้รับรางวัลดีเด่น ๒ ผลงาน ได้แก่
- การวัดความดันในช่องท้องโดยใช้นวัตกรรม IAH Pinklao และ Puncture Site Safety First (ล็อคกดตรงจุด หยุดเลือดออก)
 ผลงานด้านหลักการ ทั้งหมด ๖ ผลงาน ได้รับรางวัลดีเด่น ๒ ผลงาน ได้แก่
- แอปพลิเคชันแนวทางและการบันทึกการช่วยฟื้นคืนชีพ (Application Guideline and Recorded CPR)
- ระบบแสดงผลท่อทางของเรือโดยใช้เทคโนโลยี ๓ มิติ

 

 

 

 

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยของภาครัฐอื่น ๆ ได้แก่ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (ศวอ.ทอ.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ องค์การมหาชน (สทป.) รวมทั้งผลงานวิจัยของภาคเอกชนที่น่าสนใจอีกหลายบริษัท ผลงานที่นำมาจัดแสดง เช่น โครงการเรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบก (EV Amphibious Boat) โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ๓ (Next-Generation of OPV) หุ่นยนต์ EOD โครงการวิจัยฯ กล้องเฝ้าตรวจและลาดตระเวน M – CAP และผลงานวิจัยอากาศยานไร้นักบินเพื่อการลาดตระเวนทางทะเล ในแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยนำร่อง ๒ โครงการ ที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางทหารพื้นที่ Defense related industry research zone เพื่อรองรับโครงการสำคัญในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คือ โครงการเครื่องบินทะเล และการวิจัยวิศวกรรมวัสดุทางทะเล โดยคณะนักวิจัยของกองทัพเรือ ได้วิจัยและพัฒนาจนนำไปสู่การใช้งานตามแนวคิดในการจัดงานคือ “นาวีวิจัย ๒๐๒๒ วิจัย พัฒนา พึ่งพาตนเอง มุ่งสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”